กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
IMF ทำงานส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการเงินชั่วคราวและความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่ประเทศต่าง ๆ ปัจจุบัน IMF มียอดสินเชื่อคงค้างใน 74 ประเทศ ถึง 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
State of the Global Climate 2023
รายงาน “State of the Global Climate 2023” นำเสนอสถานการณ์สภาพภูมิอากาศโลก ผ่านข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าสถิติระดับก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิผิวน้ำ ความร้อนและกรดในมหาสมุทร ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ปริมาณน้ำแข็งทะเลแอนตาร์กติกา และธารน้ำแข็งที่ละลาย ล้วนทำลายสถิติเดิมอย่างสิ้นเชิง และรายงานฉบับนี้ยังยืนยันอีกว่า ปี 2023 เป็นปีที่โลกร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ และนำเสนอผลการวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับความเสี่ยงและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความมั่นคงด้านอาหารและการอพยพของประชากร หน่วยงานที่จัดทำ: องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ดาวน์โหลด: เอกสารฉบับอังกฤษได้ ที่นี่
Human Development Report 2023-24
รายงานการพัฒนามนุษย์ “Human Development Report 2023-24 | Breaking the gridlock: Reimagining Cooperation in a Polarized World” นำเสนอดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดโดยรวมที่สะท้อนถึงรายได้ประชาชาติสุทธิต่อประชากร (Gross National Income: GNI) ต่อหัว การศึกษา และอายุขัยของประชากรในประเทศนั้น ๆ โดยรายงานของปีนี้เป็นการประเมินภาวะหยุดชะงักอันตรายที่เกิดจากความก้าวหน้าในการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกัน ความเหลื่อมล้ำที่ทวีความรุนแรง และความแตกแยกทางการเมืองที่รุนแรงมากขึ้น พร้อมกับเสนอแนวทางไปข้างหน้าโดยให้การทำงานแบบพหุภาคี (multilateralism) มีบทบาทสำคัญ หน่วยงานที่จัดทำ: โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ดาวน์โหลด: เอกสารฉบับอังกฤษได้ ที่นี่
Migration Governance Insights: Informing People-centred Migration Policies
รายงาน “Migration Governance Insights: Informing People-centred Migration Policies” นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการการย้ายถิ่นฐานทั่วโลก โดยใช้ข้อมูลดัชนีการบริหารจัดการการย้ายถิ่น (Migration Governance Indicators: MGI) จาก 100 ประเทศและ 69 หน่วยงานปกครองท้องถิ่น เพื่อประเมินแนวโน้มทั่วโลก เสนอข้อเสนอแนะ และแสดงตัวอย่างแนวทางการตอบสนองด้านนโยบายในบริบทต่าง ๆ นอกจากนี้ บทวิเคราะห์ยังเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันในประเด็นนโยบายต่าง ๆ และเน้นบทบาทสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำหนดนโยบายการย้ายถิ่นฐานที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง หน่วยงานที่จัดทำ: องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ดาวน์โหลด: เอกสารฉบับอังกฤษได้ ที่นี่
Skills for a Green Transition: Solutions for Youth on the Move
เอกสาร “Skills for a Green Transition: Solutions for Youth on the Move” ให้ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติสำหรับผู้กำหนดนโยบาย นักพัฒนา เพื่อสนับสนุนเยาวชนในการเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะสีเขียว (Green Skills) หรือทักษะความรู้ที่จำเป็นในการสร้างสังคมที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยเน้นย้ำความครอบคลุมไปถึงกลุ่มเยาวชนที่ย้ายถิ่นฐาน ผู้ลี้ภัย และเยาวชนที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐานในการมีส่วนร่วมหารือและความพยายามที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ด้วย หน่วยงานที่จัดทำ: องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ยูนิเซฟ และธนาคารโลก (World Bank) ดาวน์โหลด: เอกสารฉบับภาษาอังกฤษได้ ที่นี่
Integrating Climate Change (CC), Gender, and Social Inclusion (GSI) into Planning and Budgeting in Thailand
คู่มือ “Integrating Climate Change (CC), Gender, and Social Inclusion (GSI) into Planning and Budgeting in Thailand” หรือ การบูรณาการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อัตลักษณ์ทางเพศและการมีส่วนร่วมทางสังคมเข้าสู่การวางแผนและการจัดทำงบประมาณในประเทศไทย เป็นแนวทางปฏิบัติที่มุ่งสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐของไทยในการบูรณาการมิติการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและมิติเพศ-สังคมเข้าสู่การทำงานและการจัดงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของงบประมาณและจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของชาติ หน่วยงานที่จัดทำ: โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดาวน์โหลด: เอกสารฉบับอังกฤษได้ ที่นี่
Progress 2023: Periodic Global Report on the State of Solutions to Internal Displacement
รายงาน “Progress 2023: Periodic Global Report on the State of Solutions to Internal Displacement” เป็นรายงานการวิเคราะห์สถานะของการแก้ปัญหาการพลัดถิ่นภายในประเทศ (Internal Displacement) ที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างครอบคลุม โดยให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสที่ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศต้องเผชิญจากกลุ่มประเทศนำร่อง 15 ประเทศ ประกอบด้วยอัฟกานิสถาน, สาธารณรัฐอัฟริกากลาง, ชาด, โคลอมเบีย, เอธิโอเปีย, อิรัก, ลิเบีย, โมซัมบิก, ไนเจอร์, ไนจีเรีย, โซมาเลีย, ซูดานใต้, ซูดาน, วานูอาตู และเยเมน หน่วยงานที่จัดทำ: องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) ดาวน์โหลด: เอกสารฉบับอังกฤษได้ ที่นี่
มาตรฐานแนวทางปฏิบัติของภาคธุรกิจเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อเลสเบียน (หญิงรักหญิง) เกย์ (ชายรักชาย) ไบ (คนรักสองเพศ) ทรานส์ (คนข้ามเพศ) และอินเตอร์เซกส์ (บุคคลที่มีเพศสรีระทางชีววิทยาไม่ชัดเจน)
เอกสาร “มาตรฐานแนวทางปฏิบัติของภาคธุรกิจเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อเลสเบียน (หญิงรักหญิง) เกย์ (ชายรักชาย) ไบ (คนรักสองเพศ) ทรานส์ (คนข้ามเพศ) และอินเตอร์เซกส์ (บุคคลที่มีเพศสรีระทางชีววิทยาไม่ชัดเจน)” เป็นฉบับแปลภาษาไทยของเอกสาร “Standards of Conduct for Business: Tackling Discrimination against Lesbian, Gay, Bi, Trans, & Intersex People” จัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นเครื่องมือชี้แนะแนวทางการส่งเสริมความเสมอภาคและการต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTI ในสถานประกอบการสำหรับภาคธุรกิจ โดยยึดหลักสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ (1) เคารพสิทธิมนุษยชน (2) ยุติการเลือกปฏิบัติ (3) สนับสนุนชุมชน LGBTI (4) ป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ และ (5) มีบทบาทในภาคสาธารณะ หน่วยงานที่จัดทำ: สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) และ UNDP ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ดาวน์โหลด: เอกสารฉบับไทยได้ ที่นี่